กรุพระวัดบวรมงคล สมัยปัจจุบัน
กรุพระวัดบวรมงคล สมัยปัจจุบัน
พระเจดีย์ ซึ่งเป็นกรุดังจะกล่าวถึงนี้ เป็นพระเจดีย์ทรงไทยขนาดสูง ๙.๗ เมตร วัดรอบฐาน ๑๔.๒๖ เมตร ตั้งอยู่หน้าวัด ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มุมวัดด้านเหนือ สันนิษฐานว่าท่านผู้สร้างมีความประสงค์ จะให้เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตวัด เพราะกล่าวกันว่า มุมวัดด้านใต้ก็มีอยู่องค์หนึ่งเช่นกัน (ปัจจุบันไม่มี)
เนื่องจากการเปิดกรุวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๐๙ เราไม่ทำลายองค์พระเจดีย์รากพระเจดีย์ยังอยู่ในสภาพเดิม จึงไม่ได้หลักฐานที่เป็นลายลักอักษร ซึ่งอาจจะอยู่ในรากพระเจดีย์นั้น และวันเวลาที่แน่นอนแห่งการสร้างพระเจดีย์ ก็ไม่อาจนำมาตีพิมพ์ไว้ในครั้งนี้
แต่อย่างไรก็ดี พระเจดีย์องค์นี้ มีความเป็นมาเท่าที่สืบทราบได้จากการบอกเล่า และตามประวัติความเป็นมาของวัดดังนี้
ท่านพระรามัญมุนี (ยิ้ม) เป็นเจ้าอาวาส ราว พ.ศ. ๒๓๘๐ – ๒๔๑๐ หลังจากท่านถึงมรณภาพนานแล้ว พระสุเมธาจารย์ (ศรี) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูราปริต ได้มารักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส
ท่านรูปนี้เป็นผู้ชักจูงให้ผู้มีศรัทธามาบูรณปฏิสังขรณ์วัดบางส่วน ท่านจางวางโต ซึ่งรับราชการอายู่กับ สมเด็จพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นคนหนึ่งที่ได้มาร่วมในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งนั้น ได้ร่วมกับผู้มีศรัทธาอื่น สร้างพระเจดีย์องค์นี้ขึ้น เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ร่วมกันนำพระมาบรรจุไว้ชั้นบนคอระฆังพระเจดีย์ จึงปรากฎว่ามีพระเครื่องพระบูชาต่างชนิด และต่างสมัยกันอยู่ชั้นนั้น สำหรับ พระสมเด็จทางกลีบบัวนั้น ได้ร่วมกันสร้างและนิมนต์พระเถระมีชื่อเสียงในสมัยนั้นมาทำพิธีพุทธาภิเษก และบรรจุไว้ในเจดีชั้นล่าง สมัยที่บรรจุนั้นเป็นสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยังมีชีวิตอยู่ (ท่านถึงแก่มรณภาพ พ.ศ. ๒๔๑๕ ) กล่าวกันว่าท่านได้มาร่วมพิธีบรรจุด้วย พระเจดีย์องค์นี้ นอกจากบรรจุพระเครี่อง พระบูชาไว้ข้างในแล้ว ยังบรรจุอัฐิบรรพบุรุษของผู้สร้างไว้ที่ฐานพระเจดีย์ด้วย แต่เป็นชั้นนอกอัฐิของท่านจางวางโต ทายาทของท่านก็กล่าวว่าบรรจุไว้ในที่นี้ด้วย ทายาทรุ่นหลังมี
พระยาหิรัญยุทธกิจ (ชาตะ ๒๔๑๙ มตะ ๒๕๐๔)
นางจีน วิเศษสากล (ชาตะ ๒๔๒๓ มตะ ๒๕๐๙)
ทั้งสองท่านนี้ ได้มาบำเพ็ญกุศลอุทิศถึงบรรพบุรุษของตนเป็นประจำทุกปีมา
ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ พระเจดีย์องค์นี้มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี เล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องสืบจากภายนอก คือนอกจากองค์พระเจดีย์ ไม่ใช่ในองค์พระเจดีย์ และการสืบหาประวัติความเป็นมาทั้งเรื่องพระเจดีย์ และเรื่องเกี่ยวกับวัด ทางวัดได้ใช้เวลาอันจำกัด และอยู่ในวงการแคบ อาจมีข้อผิดพลาดได้ ซึ่งทั้งนี้ทางวัดจะศึกษาหาหลักฐานเพิ่มเติม ในการทำประวัติครั้งต่อไป
ลักษณะกรุ
มีกรุที่บรรจุพระอยู่ทั้ง ๒ ชั้น คือ ชั้นล่างจากฐานขึ้นไปแบ่งเป็นห้อง ๔ ห้องส่วนสูงประมาณ ๑ เมตรเครื่องก่ออิฐกั้นติดกันตรงกลางแต่ละห้องกองดินขึ้นใสสูงพ้นจากพื้นประมาณ ๒ ฟุต ทั้ง ๔ ห้องนี้บรรจุพระสมเด็จกลีบบัวทั้งหมด โดยบรรจุไว้ในกระถางมังกรอีกชั้นหนึ่งและบรรจุตั้งไว้บนกองดิน และโดยที่ตั้งกระถางบรรจุพระไว้บนกองดินนี้ ด้านที่ติดฝั่งน้ำ เจดีย์ถูกคลื่นซัดอยู่ตลอดเวลา อิฐและปูนกร่อนทำให้เป็นช่องน้ำไหลเข้าได้กองดินยุบลง ทำให้กระถางบรรจุพระเอียง เมื่อคลื่นซัด พระก็ไหลตามน้ำออกมา อันเป็นต้นเหตุให้มีการขุดกรุครั้งนี้
กรุชั้นบน คือ ที่คอระฆังของพระเจดีย์ ชั้นนี้ได้แบ่งเป็นห้อง ๔ ห้อง เช่นเดียวกันกับชั้นล่าง แต่ละห้องมีเนื้อที่ประมาณ ๑ ตารางฟุต หรือแคบกว่านั้นเล็กมาก ภายในห้องชั้นบนทั้ง ๔ ห้องนี้ บรรจุพระเครื่องพระพุทธรูปบูชาขนาดเล็ก พระบรมธาตุ และของมีค่าอย่างอื่นจำนวนลักษณะไม่เหมือนกัน
ตามที่เข้าใจกัน ของบรรจุไว้ชั้นบนนี้เป็นของที่มีผู้ร่วมบริจาคบรรจุไว้ เช่นพระเครื่องมีตั้งแต่สมัยสุโขทัยมา ถึง สมัยรัตนโกสินทร์ มีบางชนิดอยู่ในลักษณะผุกร่อน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเจ้าของพระนั้นๆ ได้ใช้มาแล้วนานปี แต่บางอย่างก็ผุกร่อนเพราะเก็บไว้ในกรุ
เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า พระเครื่องเนื้อชินแทบทั้งหมดเป็นพระแบบอยุธยาทั้งนี้ คงจะเป็นเพราะสมัยนั้นนิยมพระเครื่องอยุธยามาก ส่วนพระบูชาขนาดเล็กเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นกันเป็นพื้น >>>ต่อหน้า ๒
ที่มาของภาพ ::http://www.g-pra.com/